Rules and Regulations

  • วันทำงาน เวลาทำงานปกติ  เวลาพัก และการทดลองงาน

บริษัทกำหนดวันทำงาน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทดลองงาน ไว้ดังนี้

1.1     วันทำงาน

ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน

1.2     เวลาทำงานปกติ

ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง  An employee shall work 8 hours per day

1.2.1  “ลูกจ้าง” ที่ได้รับ  “ค่าจ้าง” รายเดือน 9500 อื่นๆ

เวลา 10:00 น.  ถึงเวลา 18:00 น. / 10:00 ถึงเวลา 23:00

1.2.2 “ลูกจ้าง” ที่ ได้รับ “ค่าจ้าง” เป็นเงินค่าตอบแทนการทำงาน ประเภทคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน

40 รายชั่วโมง

300 รายวัน

1.3     เวลาพัก

ก. ระหว่างการทำงานปกติ

พักระหว่างเวลา  14:00 น.  ถึงเวลา 14:30 น.

ข. มิให้ใช้บังคับเวลาพักตาม ข้อ ก. ในกรณี “ลูกจ้าง” ที่ทำงานในลักษณะหรือสภาพของงานที่ต้องทำติดต่อกันไป “ลูกจ้าง” ประเภทนี้ “นายจ้าง” จัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานแต่ละครั้งไม่เกิน 15 นาที เมื่อรวมกันแล้ววันหนึ่งมีระยะเวลาการพัก หนึ่งชั่วโมง และต้องไม่เกินหนึ่งชั่วโมง

ให้ “ลูกจ้าง” จัดหาเวลาพักซึ่งต้องไม่ตรงกับเวลาดังต่อไปนี้

ช่วงเวลา  11.30 น.  ถึง เวลา 14.30 น.

ช่วงเวลา  18.30 น.  ถึง เวลา 21.30 น.

ค. ก่อนการทำงานล่วงเวลา

ในกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง ให้ลูกจ้างพัก 15 นาที   ก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลา

1.4     การทดลองงาน

ทดลองงาน 3 เดือนหรือน้อยกว่านั้น และการทดลองงานวันแรกลูกจ้างจะไม่รับเงินค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

             1.5    ระเบียบการปฏิบัติงาน

  1. บริษัทสามารถจะจัดทำกำหนดเวลาการทำงาน  ชนิดใหม่ที่แตกต่างกับที่กล่าวมานี้ได้หากมีความจำเป็นที่จะต้องกระทำเช่นนั้น  และในกรณีดังกล่าวบริษัทจะแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าถึงชั่วโมงการทำงานซึ่งจะต้องไม่เกินกว่าชั่วโมงทำงานตามกฎหมาย เช่นนั้น โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
  2. ลูกจ้างทุกคนต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาทำงานที่บริษัทแจ้งให้ทราบอย่างเคร่งครัด
  3. บริษัทสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวันทำงาน เวลาทำงาน วันหยุด เวลาพัก และสถานที่ทำงาน (ภายในจังหวัดเดียวกัน) ได้ตามความเหมาะสมกับการบริหาร บางส่วน บางแผนก หรือทั้งหมดได้  ถ้าบริษัทเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นเป็นการสมควรเพื่อเสริมสมรรถภาพในการทำงานเพื่อเหตุอื่นใด โดยแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า  โดยบริษัทจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน
  4. การมาทำงานสายและการออกจากสถานที่ทำงานไปก่อนเวลาเลิกงาน

(1)       การมาสาย ลูกจ้างผู้ใดที่เกรงว่าจะมาสายหรือมาทำงานช้ากว่าเวลาเข้างานที่กำหนดไว้  จะต้องติดต่อทางโทรศัพท์มายังผู้บังคับบัญชาก่อนร้านเปิดทำการ  และหลังจากที่มาถึงบริษัทแล้วจะต้องต้องยื่นจดหมายแสดงถึงสาเหตุของการมาสายนั้นต่อผู้บังคับบัญชาทันที

(2)       การเลิกงานก่อนเวลาที่กำหนด ลูกจ้างที่ประสงค์จะเลิกงานก่อนเวลาเลิกงานนั้น  จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาล่วงหน้า

  1. “ลูกจ้าง” เข้ามาทำงานในตำแหน่งพนักงานขาย จะได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบดังต่อไปนี้
  • มีหน้าที่และความรับผิดชอบ เปิดร้านให้ตรงเวลาที่ “นายจ้าง”กำหนดเวลาไว้
  • มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ทำรายงาน ตรวจนับปริมาณสินค้า และรายรับที่ขายได้ในชั่วโมงการทำงานที่ตนรับผิดชอบตลอดเวลาโดยเฉพาะความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปริมาณสินค้าและรายรับต่างๆ พนักงานขาย ไม่มีอำนาจในการใช้จ่ายเงินในกรณีใดๆ เว้นแต่ กรณีจำเป็น เร่งด่วนจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้างานหรือ ผู้บังคับบัญชาเสียก่อน การสำรองค่าจ่ายใช้ดังกล่าวไปนั้น จะต้องทำรายงานด้วยทุกครั้ง
  • การรายงานเกี่ยวกับการทำงานตามข้อ 5 (2) ของ 1.5 ระเบียบปฏิบัติงาน นั้น ให้“ลูกจ้าง” เข้ามาทำงานในตำแหน่งพนักงานขายทำรายงานการปฏิบัติงานผ่านระบบเว็บไซด์ โดยเข้าสู่ระบบรายงานใน https://bellodolceicecream.com/shop-information/
  1. รูปแบบรายงานการปฏิบัติงานมีดังต่อไปนี้
  • การรายงานตรวจนับปริมาณสินค้า โดยการชั่งน้ำหนักปริมาณสินค้าในทุกช่วงเวลาที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในเรื่องของปริมาณ น้ำหนัก ชั่ง ตวง วัด ให้ทำรายงานโดยแจ้ง ชนิด จำนวน ปริมาณ ของสินค้าที่ได้ขายไปแล้ว สินค้าที่ทางสำนักงานใหญ่ได้นำกลับออกไป และสินค้าใหม่ที่นำเข้ามาเพิ่มเติม โดยต้องมีการตรวจนับให้ครบถ้วนตามที่ได้วัด นับ ปริมาณ และให้ถูกต้อง กรณีหากเกิดปัญหาความผิดพลาด “ลูกจ้าง” ที่ดูแลประจำร้านของต้นต้องรับผิดตามปริมาณและใช้ราคา ตามที่ “นายจ้าง” ได้กำหนดไว้ ตามข้อ 6. (วินัยและโทษทางวินัย) เช่น กรณีที่ไอศกรีมภายในร้านไอศกรีมสูญหายเกินกว่าที่บริษัทกำหนดไว้ ลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขายต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 50 บาท ต่อ 75 กรัม เป็นต้น
  • ให้ “ลูกจ้าง” รายงานปัญหา หรือกรณีความเสียหายใดๆไม่ว่าเหตุเล็กน้อยหรือเหตุความเสียหาหนัก ซึ่งมีเหตุอันเล็งเห็นผลได้ว่า ภัย อันตราย ปัญหา ความเสียหาย “ลูกจ้าง” ต้องแจ้งต่อหัวหน้างาน ผู้บังคับบัญชาตัวแทนของ “นายจ้าง” หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยทันที ไม่ว่าจะเกิดขึ้นต่อตัวต่อสินค้าและหรือทรัพย์สินของ “นายจ้าง”  หากเกิดกรณี “นายจ้าง” ทราบเหตุความเสียหายดังกล่าวล่าช้าจนทำให้ เกิดความเสียหายหนักขึ้น หรือเกิดจากความประมาทเลินเล่อของ “ลูกจ้าง” อย่างร้ายแรง กรณีดังกล่าวนี้นั้น ให้“ลูกจ้าง” ที่ดูแลประจำร้านรับผิดตามมูลค่าของสินค้าและหรือทรัพย์ทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน เว้นแต่กรณีพ้นวิสัย ซึ่งถึงอย่างไรๆก็เกิดขึ้น

ข้อ 2. วันหยุดและหลักเกณฑ์การหยุด

2.1     วันหยุดประจำสัปดาห์

หยุดสัปดาห์ละ 1 วัน

บริษัทจ่ายค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน

2.2     วันหยุดตามประเพณี

ลูกจ้างจะได้หยุดโดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน

ถ้าวันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันทำงาน นายจ้างสามารถเลื่อนวันหยุดไปในช่วงเวลาอื่นได้

2.3     วันหยุดพักผ่อนประจำปี

  1. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบหนึ่งปี   มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีโดยได้รับค่าจ้างปีละ 7 วันทำงาน ทั้งนี้ บริษัทจะกำหนดล่วงหน้าให้หรือตามที่ตกลงกัน  เว้นแต่ได้ตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดที่ยังไม่ได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไป
  2. ลูกจ้างที่ประสงค์จะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจะต้องยื่นใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันทำงาน  และจะหยุดได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเท่านั้น มิฉะนั้น จะถือว่าขาดงานละทิ้งหน้าที่

ข้อ 3.  หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด

ในกรณีที่งานมีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉินบริษัทจะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน หรือทำงานในวันหยุด รวมถึงล่วงเวลาในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน

ข้อ 4. วันและสถานที่จ่ายค่าจ้าง 

4.1     บริษัทกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันทำงาน ให้แก่ลูกจ้างในวันทำงานปกติเดือนละ 1 ครั้ง  ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ณ ที่ทำการของบริษัท หรือจ่ายผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารของลูกจ้างหรือตามที่บริษัทเห็นสมควร

เงินค่าตอบแทนพิเศษ หรือ ประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ หรือเงินโบนัส ที่“นายจ้าง” จัดสรรให้เป็นรางวัลอันเป็นค่าตอบแทนนอกเหนือจากเวลาทำงานปกติ (ถ้ามี) โดยจะคำนวณจากกำไรสุทธิต่อเดือนของแต่ละสำนักงานของ  “นายจ้าง” ที่ “ลูกจ้าง” ทำงานนั้น  เงินดังกล่าว “นายจ้าง” จะจ่ายให้แก่ “ลูกจ้าง” ในวันท้ายสุดเดือนถัดไป

4.2     กรณีวันที่จ่ายค่าจ้างในวันทำงานตรงกับวันหยุดธนาคารหรือวันหยุดของบริษัท บริษัทจะจ่ายก่อนวันหยุด 1 วันทำงาน

ข้อ 5. วันลาและหลักเกณฑ์การลา

ประเภทการลาและหลักเกณฑ์การลา บริษัทกำหนดไว้ดังนี้

5.1     การลาป่วย

  1.      ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริงโดยได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน
  2. วันลาป่วยของลูกจ้าง จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อลูกจ้างเจ็บป่วย บาดเจ็บ หรือป่วยด้วยเหตุอื่นๆ จนทำให้ไม่สามารถทำงานได้โดยไม่ทราบล่วงหน้า
  3. การลาป่วยต้องแจ้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในทันที่ที่รู้ว่าไม่สามารถทำงานได้ โดยแจ้งหัวหน้า ผู้บังคับบัญชา ตัวแทน “นายจ้าง” หรืออาจแจ้งความเจ็บป่วยผ่านช่องทางสื่ออีเล็กทรอนิกส์เช่น อีเมล์ ระบบรายงานในเว็บไซด์ของ “นายจ้าง” และต้องแจ้งก่อนวันทำงานวันแรกที่ต้องหยุดงาน แต่หากเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนจะต้องกระทำภายใน 2 ชั่วโมงแรกของเวลาทำงานปกติในวันแรกที่ต้องหยุดงาน โดยให้ลูกจ้างหรือบุคคลอื่นติดต่อแจ้งให้บริษัทหรือผู้บังคับบัญชาของตนทราบด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด หากลูกจ้างไม่แจ้งภายในเวลาที่กำหนด ถือว่าลูกจ้างขาดงานในวันดังกล่าว
  4. กรณีการลาป่วยเกิดขึ้นภายหลังจากที่มาทำงานในวันนั้นแล้ว ให้ขออนุมัติการลาต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตน
  5. การลาป่วยเกิน 3 วัน ลูกจ้างจะต้องมีหนังสือรับรองจากแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งมาแสดง ถ้าลูกจ้างไม่อาจสามารถแสดงใบรับรองแพทย์ได้ให้ลูกจ้างชี้แจงให้บริษัททราบ
  6. ลูกจ้างที่ลาป่วยโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรบ่อยครั้งและบริษัทพิสูจน์ได้ว่าไม่ป่วยจริงบริษัทจะพิจารณาโทษทางวินัยตามความเหมาะสมซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณีไป
  7. การลาป่วยที่เป็นเท็จ นอกจากจะเป็นการแจ้งรายงานข้อมูลไม่จริงต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว ยังถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงต่อบริษัท ฐานกระทำทุจริตซึ่งบริษัทจะพิจารณาลงโทษตามระเบียบ

5.2     การลาเพื่อคลอดบุตร

  1. ลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรก่อนและหลังคลอดครั้งหนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน (รวมวันหยุด) บริษัทจ่ายค่าจ้างในวันทำงานให้แก่ลูกจ้างซึ่งลาคลอดตลอดระยะเวลาที่ลาแต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน  โดยลาล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน
  2. เนื่องจากการคลอดแม้ว่าจะได้หยุดตามเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาคลอดตามข้อ 1 แล้วก็ตาม  แต่ยังไม่สามารถจะมาปฏิบัติงานได้ บริษัทจะอนุญาตให้ลาหยุดเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 30 วัน  โดยไม่ได้รับค่าจ้าง
  3. กรณีฉุกเฉิน ลูกจ้างไม่สามารถยื่นใบลาล่วงหน้าได้ตามระเบียบ ให้ลูกจ้างแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบถึงเหตุผลโดยวิธีใดวิธีหนึ่งทันที เช่น  ทางโทรศัพท์หรือจะให้ญาติหรือคู่สมรสมาแจ้งการลาแทน
  4. ถ้าลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง แสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้ให้มีสิทธิขอให้บริษัทเปลี่ยนงานในหน้าที่เป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ โดยบริษัทจะพิจารณาเปลี่ยนงานให้แก่ลูกจ้างนั้นตามที่เห็นสมควร

5.3     การลาเพื่อทำหมัน

  1. บริษัทอนุญาตให้ลูกจ้างลาเพื่อทำหมันได้ และมีสิทธิลาเนื่องจากการทำหมันโดยได้รับค่าจ้าง ทั้งนี้จำนวนวันลาให้เป็นไปตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งเป็นผู้กำหนด
  2.      ลูกจ้างที่จะลาเพื่อทำหมัน จะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน เมื่อได้รับอนุมัติจึงจะลาได้
  3. เมื่อกลับเข้าทำงานในวันแรก ลูกจ้างจะต้องยื่นหนังสือรับรองแพทย์ต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการลา

5.4     การลาเพื่อรับราชการทหาร

  1. ในกรณีที่ทางราชการได้ออกหมายเรียกตัวลูกจ้าง เพื่อเข้ารับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบ เพื่อการฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดสอบความพรั่งพร้อม โดยลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งไม่เกิน 60 วัน (โดยนับต่อเนื่องและรวมทั้งวันหยุด)
  2. การลาเพื่อรับราชการทหาร ลูกจ้างจะต้องแจ้งให้บริษัททราบภายใน 3 วันนับจากวันที่ได้รับหมายเรียก  การลาเพื่อรับราชการทหาร  ลูกจ้างต้องลาล่วงหน้า 30 วัน  กรณีลูกจ้างที่ถูกเกณฑ์ทหาร  จะต้องลาออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัท
  3. ลูกจ้างต้องกลับเข้าทำงานภายใน 3 วัน นับจากวันที่ลูกจ้างพ้นหน้าที่ทางราชการทหาร  หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วลูกจ้างไม่มีการติดต่อกับบริษัท โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือปฏิเสธที่จะเข้าทำงานในตำแหน่งที่บริษัทเสนอให้ (โดยตำแหน่งและค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม) ให้ถือว่าลูกจ้างผู้นั้นได้สละสิทธิในการที่จะทำงานกับบริษัท และถือว่าลูกจ้างผู้นั้นลาออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทโดยสมัครใจ

5.5     การลาเพื่อการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ความสามารถ

  1. ลูกจ้างมีสิทธิลาโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เพื่อการฝึกอบรม หรือพัฒนาความรู้ความสามารถในกรณี   ดังต่อไปนี้

–           เพื่อประโยชน์ต่อการแรงงานและสวัสดิการสังคม รวมทั้งการฝึกอบรมหรือพัฒนาเกี่ยวกับทักษะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

–           การสอบวัดผลทางการศึกษาที่ทางราชการจัดหรืออนุญาตให้จัดขึ้น

  1. ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี  มีสิทธิลาเพื่อเข้าประชุมสัมมนา  รับการอบรม  รับการฝึกหรือลาเพื่อการอื่น ซึ่งจัดโดยสถานศึกษา หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน ที่ได้รับการเห็นชอบจากอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยให้ลูกจ้างเป็นผู้แจ้งขออนุญาตเพื่อเข้ารับการอบรมนั้นๆ พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (หากมี)  และบริษัทจะพิจารณาอนุมัติ  โดยจ่ายค่าจ้างให้ปีละ 30 วัน
  2. ลูกจ้างที่มีสิทธิลา จะต้องเป็นลูกจ้างที่ผ่านการทดลองงานแล้ว
  3. ลูกจ้างต้องยื่นใบลาล่วงหน้าเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาอนุมัติเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยจะต้องระบุถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้ง รวมทั้งมีเอกสารประกอบการขออนุมัติ  เช่น หนังสือตอบรับการเข้าฝึกอบรม รายละเอียดหลักสูตร ฯลฯ ทั้งนี้รวมตลอดปีพนักงานมีสิทธิลาได้ไม่เกิน 30 วันหรือ 3 ครั้ง อย่างใดอย่างหนึ่ง
  4. บริษัทมีสิทธิไม่อนุมัติให้ลา หากการลานั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินงานของบริษัท

5.6     การอุปสมบท

  1. ลูกจ้างที่ผ่านการทดลองงานแล้ว  สามารถขอลาอุปสมบทได้ไม่เกิน 15 วัน โดยได้รับค่าจ้าง   โดยสามารถลาได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การลาอุปสมบทดังกล่าวนี้  ลูกจ้างต้องใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีที่มีสิทธิก่อน ที่เหลือเป็นลากิจที่บริษัทจะพิจารณาอนุมัติให้
  2. การลาอุปสมบท  บริษัทจะอนุมัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะต้องไม่เป็นผลเสียหายต่องานของบริษัท
  3. ในปีหนึ่งๆ บริษัทมีสิทธิจำกัดจำนวนผู้ลาอุปสมบทได้ตามความจำเป็น
  4. ในวันที่ลูกจ้างกลับมาปฏิบัติงานตามปกติแล้ว ลูกจ้างต้องนำหลักฐานหรือหนังสือรับรองการอุปสมบท (ใบสุทธิ) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

5.7     การลาหยุดในกรณีอื่นๆ

บริษัทจะอนุญาตให้ลูกจ้างลาหยุดได้ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ โดยได้รับค่าจ้าง

  1. การลาเพื่อจัดพิธีฌาปนกิจศพ  เมื่อบิดา  มารดา  คู่สมรส  พี่น้องร่วมบิดามารดา  และบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนถึงแก่กรรม  โดยยื่นใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 วัน เมื่อได้รับอนุมัติจากบริษัทแล้วจึงหยุดได้ ทั้งนี้ ลาได้ไม่เกินครั้งละ 5 วัน
  2. ลาเพื่อประกอบพิธีสมรสของลูกจ้าง โดยยื่นใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน  เมื่อได้รับอนุมัติจากบริษัทแล้วจึงหยุดได้ ทั้งนี้ ลาได้ไม่เกิน 3 วัน  โดยมีสิทธิลาได้เพียง 1 ครั้งต่อคน
  3. ในกรณีเกิดอัคคีภัย  อุทกภัยต่างๆ  ซึ่งเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้บ้านเรือนที่พักอาศัยเกิดความเสียหายเกินว่าครึ่งหนึ่งขึ้นไป  โดยยื่นใบลาและเมื่อได้รับอนุมัติจากบริษัทแล้วจึงหยุดได้ ทั้งนี้ ลาได้ไม่เกิน 3 วัน

ข้อ 6. วินัยและโทษทางวินัย

6.1     วินัย                                                                            

  1. ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
  2. ลูกจ้างต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบของผู้บังคับบัญชา
  3. ลูกจ้างต้องมาปฏิบัติงานให้ตรงตามเวลา

–           หากลูกจ้างมาสายเกินกว่า 1 ชั่วโมง โดยไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้า บริษัทจะปรับเงินครั้งละ 200 บาท

–           หากลูกจ้างขาดงานไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม โดยไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้า บริษัทจะปรับเงินวันละ 400 บาท

–           หากลูกจ้างขาดงานเกิน 3 วัน โดยไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบล่วงหน้า ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างและค่านายหน้าสำหรับเดือนนั้น และหากลูกจ้างที่ประพฤติดังกล่าวทำงานได้ไม่เกิน 3 เดือน บริษัทมีสิทธิเลิกจ้างทันที โดยไม่ต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า

–           หากลูกจ้างไม่ดำเนินการเปิดร้านในแต่ละสาขาของบริษัท บริษัทจะปรับเงินลูกจ้างตามจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริง ซึ่งบริษัทต้องสูญเสียรายได้จากการปิดร้านดังกล่าว

  1. ลูกจ้างต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่กลั่นแกล้ง จงใจ หรือประมาทจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ลูกจ้างด้วยกันเอง หรือลูกค้า
  2. ลูกจ้างต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันและเต็มความสามารถ

–           ลูกจ้างต้องกล่าวทักทายลูกค้าด้วยความสุภาพเรียบร้อยและยิ้มแย้มแจ่มใส

–           ลูกจ้างต้องจดบันทึกยอดขายในแต่ละวันให้ถูกต้องครบถ้วน

–           ห้ามลูกจ้างใช้โทรศัพท์มือถือในเวลาทำงาน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ต่อหน้าลูกค้าและหน้าร้านไอศกรีม เว้นแต่ใช้เพื่อการทำงานเท่านั้น

  1. ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัยในการทำงาน
  2. ลูกจ้างต้องดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์การทำงานให้อยู่ในสภาพดีเป็นระเบียบเรียบร้อยตามความจำเป็น  หรือตามควรแก่หน้าที่ของตน
  3. ลูกจ้างต้องช่วยกันระมัดระวังและป้องกันทรัพย์สินใดๆ ในบริเวณที่ทำงานโดยมิให้สูญหายหรือเสียหายจากบุคคลใดๆ หรือจากภัยพิบัติอื่นๆ เท่าที่สามารถจะทำได้

–           กรณีที่ไอศกรีมภายในร้านไอศกรีมสูญหายเกินกว่าที่บริษัทกำหนดไว้ ลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขายต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 50 บาท ต่อ 75 กรัม

–           กรณีที่สมุดบันทึกยอดขายของร้านไอศกรีมสูญหาย บริษัทจะปรับเงินลูกจ้าง 500 บาท

–           กรณีที่กระเป๋าเก็บเงินของร้านไอศกรีมหาย บริษัทจะปรับเงินลูกจ้าง 3,000 บาท

–           กรณีที่เงินของร้านไอศกรีมสูญหาย ลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานเก็บเงินต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่าที่สูญหายจริง

  1. ลูกจ้างต้องช่วยกันรักษาความสะอาด  ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำงาน รวมทั้งต้องรักษาความสะอาดร่างกาย ฟัน แต่งหน้าและรวบผมให้เรียบร้อยอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เส้นผมตกลงไปในอาหาร
  2. ลูกจ้างต้องไม่กระทำการทะเลาะวิวาท  หรือทำร้ายร่างกายบุคคลใดในบริเวณที่ทำงาน หากฝ่าฝืนบริษัทมีสิทธิเลิกจ้างทันที
  3. ลูกจ้างต้องไม่นำยาเสพติดผิดกฎหมาย หรืออาวุธที่มีอันตรายร้ายแรง  หรือวัตถุระเบิดเข้ามาบริเวณที่ทำงาน
  4. ประพฤติตนเป็นพลเมืองดีอยู่ในระเบียบและกฎเกณฑ์ของสังคมไม่ประพฤติชั่ว กระทำหรือร่วมกันกระทำการใด ๆ อันเป็นการผิดกฎหมายของบ้านเมืองทั้งในและนอกบริเวณบริษัท
  5. ไม่ช่วยเหลือ สนับสนุน ชักจูง รู้เห็นเป็นใจ หรือเพิกเฉยต่อการกระทำความผิดของลูกจ้างอื่น
  6. ห้ามรับจ้างทำงานให้ผู้อื่นหรือดำเนินธุรกิจใดๆ อันอาจเป็นผลกระทบกระเทือนเวลาทำงานหรือกิจการของบริษัท หรือเป็นการแข่งขันกับบริษัท
  7. ห้ามนำสิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ หรือผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวหรือใช้เพื่อการอื่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัท โดยไม่ได้รับอนุญาต
  8. ไม่ประพฤติตนหรือกระทำการใดๆ ให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียงหรืออาจได้รับความเสียหาย
  9. ไม่เปิดเผยข้อมูล หรือปกปิดข้อเท็จจริงอันอาจเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย
  10. ไม่ดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลอื่น หรือเหยียดหยามผู้บังคับบัญชา หรือลูกค้า หรือผู้มาติดต่อ หรือกระทำอื่นๆ ที่เป็นการอันไม่สมควร
  11. หากลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ให้แจ้งต่อผู้บังคับบัญชาเป็นลายลักษณ์อักษร
  12. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงใด ๆ เข้ามาในบริเวณบริษัทฯ
  13. ต้องไม่ทำการทะเลาะวิวาท หรือใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งกันและกันในบริเวณบริษัท
  14. ลูกจ้างต้องรักษาความลับของลูกค้าของบริษัท และลูกจ้างอื่น หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท และต้องรักษาความลับและชื่อเสียงของบริษัท

6.2        โทษทางวินัย

  1. ลูกจ้างผู้ใดฝ่าฝืนข้อ 6.1 จะถูกพิจารณาลงโทษโดยการตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นหนังสือ ปรับเงิน ให้พักงาน  หรือเลิกจ้าง และชดใช้ค่าเสียหาย (หากมี)  ตามสมควรแห่งความผิดที่ได้กระทำ
  2. การปรับเงินและการเรียกค่าเสียหายตามข้อ 6.1 และ 6.2 นั้น บริษัทสามารถหักกลบลบหนี้กับเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษและเงินค่านายหน้าของเดือนนั้นๆ ได้
  3. ในกรณีที่ลูกจ้างถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัย  บริษัทอาจมีคำสั่งพักงานเป็นหนังสือระบุความผิดและกำหนดระยะเวลาพักงานในระหว่างการสอบสวนได้ไม่เกินเจ็ดวันโดยแจ้งลูกจ้างทราบก่อนการพักงาน  ซึ่งในระหว่างการพักงานบริษัทจะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนถูกสั่งพักงาน  และเมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว  ปรากฏว่าลูกจ้างไม่มีความผิดบริษัทจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานนับแต่วันที่ลูกจ้างถูกสั่งพักงานเป็นต้นไปโดยคำนวณเงินที่บริษัทจ่ายไปแล้วเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี

ข้อ 7. การร้องทุกข์

7.1     ขอบเขตและความหมาย

การร้องทุกข์  หมายถึง  กรณีที่ลูกจ้างมีความไม่พอใจหรือมีความทุกข์อันเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพการทำงาน สภาพการจ้าง การบังคับบัญชา การสั่งหรือมอบหมายงาน การจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานหรือประโยชน์อื่น  หรือการปฏิบัติใดที่ไม่เหมาะสมระหว่างบริษัทหรือผู้บังคับบัญชาต่อลูกจ้างหรือระหว่างลูกจ้างด้วยกันและลูกจ้างได้เสนอความไม่พอใจหรือความทุกข์นั้นต่อบริษัท เพื่อให้บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขหรือยุติเหตุการณ์นั้น  ทั้งนี้  เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทและลูกจ้าง  และเพื่อให้ลูกจ้างทำงานด้วยความสุข

7.2     วิธีการและขั้นตอน

ลูกจ้างที่มีความไม่พอใจหรือมีความทุกข์เนื่องจากการทำงานดังกล่าวข้างต้น  ควรยื่นคำร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงหรือผู้บังคับบัญชาชั้นแรกของตนโดยเร็ว  เว้นแต่เรื่องที่จะร้องทุกข์นั้นเกี่ยวกับการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาดังกล่าวหรือผู้บังคับบัญชาดังกล่าวเป็นต้นเหตุก็ให้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

การยื่นคำร้องทุกข์ให้กรอกข้อความลงในแบบพิมพ์ที่บริษัทได้กำหนดขึ้น

7.3     การสอบสวนและพิจารณา

เมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับคำร้องทุกข์จากลูกจ้างแล้ว  ให้รีบดำเนินการสอบสวนเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องที่ร้องทุกข์นั้นโดยละเอียดเท่าที่จะทำได้  โดยดำเนินการด้วยตนเองหรือด้วยความช่วยเหลือจากบริษัท ทั้งนี้  ลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องทุกข์ชอบที่จะให้ข้อเท็จจริงโดยละเอียดแก่ผู้บังคับบัญชาด้วย

เมื่อสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว  ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์นั้น  หากเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตของอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชานั้นและผู้บังคับบัญชาสามารถแก้ไขได้  ก็ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว  แล้วแจ้งให้ลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องทุกข์ทราบ  พร้อมทั้งรายงานให้บริษัททราบด้วย

หากเรื่องราวที่ร้องทุกข์นั้น  เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชานั้นให้ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวเสนอเรื่องราวที่ร้องทุกข์  พร้อมทั้งข้อเสนอในการแก้ไขหรือความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปตามลำดับ

ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปดำเนินการสอบสวนและพิจารณาคำร้องทุกข์เช่นเดียวกับผู้บังคับบัญชาระดับต้นที่ได้รับคำร้องทุกข์

ผู้บังคับบัญชาแต่ละชั้นต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำร้องทุกข์โดยเร็วอย่างช้าไม่เกิน 7 วัน      

7.4     กระบวนการยุติข้อร้องทุกข์

เมื่อผู้บังคับบัญชาแต่ละชั้นได้พิจารณาคำร้องทุกข์  ดำเนินการแก้ไขหรือยุติเหตุการณ์ที่เกิดการร้องทุกข์ และได้แจ้งให้ลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องทุกข์ทราบ  หากลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องทุกข์พอใจก็ให้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยเร็วแต่ถ้าลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องทุกข์ไม่พอใจ  ก็ให้ยื่นอุทธรณ์  โดยกรอกข้อความที่อุทธรณ์ลงในแบบพิมพ์ที่บริษัทได้กำหนดขึ้นและยื่นต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบผลการร้องทุกข์จากผู้บังคับบัญชาระดับต้น

ผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดจะพิจารณาอุทธรณ์และดำเนินการแก้ไขหรือยุติเหตุการณ์ตามคำร้องทุกข์  และแจ้งผลการพิจารณาดำเนินการให้ลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องทุกข์ทราบภายใน 15 วัน

หากลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องทุกข์ยังไม่พอใจผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้บังคับบัญชาสูงสุด  ย่อมมีสิทธิดำเนินการในทางอื่นอันชอบด้วยกฎหมายต่อไปได้  หรืออาจเสนอต่อบริษัท เพื่อร่วมกันตั้งผู้ชี้ขาดขึ้นเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาอันเกิดจากคำร้องทุกข์นั้นต่อไปได้

7.5     ความคุ้มครองผู้ร้องทุกข์และผู้เกี่ยวข้อง

ลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องทุกข์  ลูกจ้างผู้ให้ถ้อยคำ  ให้ข้อมูล  ให้ข้อเท็จจริง  หรือให้พยานหลักฐานใดเกี่ยวกับการร้องทุกข์  และลูกจ้างที่เป็นผู้พิจารณาคำร้องทุกข์  เมื่อได้กระทำไปโดยสุจริตใจ  แม้จะเป็นเหตุให้เกิดข้อยุ่งยากประการใดแก่บริษัท  ก็ย่อมได้รับการประกันจากบริษัทว่าจะไม่เป็นเหตุหรือถือเป็นเหตุที่จะเลิกจ้าง  ลงโทษ  หรือดำเนินการใดที่เกิดผลร้ายต่อลูกจ้างดังกล่าว

ข้อ 8.       การเลิกจ้าง ค่าชดเชย  และค่าชดเชยพิเศษ

8.1     การเลิกจ้างกรณีปกติ

การเลิกจ้าง  หมายความว่า

  1.    การที่บริษัทไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้  ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด
  2. การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่บริษัทไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง  ดังต่อไปนี้

  1. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน  หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้าย  สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  2. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปี  แต่ไม่ครบสามปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย                 เก้าสิบวัน  หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้าย  สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  3. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปี  แต่ไม่ครบหกปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย               หนึ่งร้อยแปดสิบวัน  หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้าย  สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  4. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปี  แต่ไม่ครบสิบปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย               สองร้อยสี่สิบวัน  หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้าย  สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  5. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป  ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน  หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้าย  สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

ข้อยกเว้นในการไม่จ่ายค่าชดเชย

บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด  ดังนี้

(1)        ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัท

(2)        จงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย

(3)        ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4)        ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของบริษัทอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม  และบริษัทได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว  เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงบริษัทไม่จำเป็นต้องตักเตือน โดยหนังสือเตือนให้มีผลบังคับใช้ได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(5)        ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันควร

(6)        ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

การบอกเลิกสัญญาจ้าง

  1. การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา  สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาจ้าง  โดยบริษัทและลูกจ้างไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
  2. การจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา  บริษัทหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบอย่างน้อยหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้าง

ลูกจ้างทดลองงานถือเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา

8.2     การเลิกจ้างเพราะเหตุอื่นที่บริษัทปรับปรุงหน่วยงานหรือการบริการ ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้าง  บริษัทจะปฏิบัติ  ดังนี้

  1. แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างให้พนักงานตรวจแรงงานและลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง

ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถแจ้งได้หรือแจ้งการเลิกจ้างน้อยกว่าสามสิบวันต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน  หรือเท่ากับค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้าย  สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

  1. จ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มจากค่าชดเชยปกติตามข้อ 8.1 ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานติดต่อกันเกินหกปีขึ้นไป โดยจ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทำงานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทำงานครบหนึ่งปีสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ทั้งนี้  ค่าชดเชยพิเศษดังกล่าวจะไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวันหรือไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสามร้อยหกสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

กรณีระยะเวลาการทำงานไม่ครบหนึ่งปี  ถ้าเศษของระยะเวลาทำงานมากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทำงานครบหนึ่งปี

8.3     การย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น

ในกรณีที่บริษัทจะย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง  ณ  สถานที่อื่น อันมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว  บริษัทจะปฏิบัติดังนี้

  1. บริษัทต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการ

ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถแจ้งได้  หรือแจ้งการย้ายสถานประกอบกิจการน้อยกว่าสามสิบวัน   จะจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน  หรือเท่ากับค่าจ้างของ การทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้าง  ซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

  1.        หากลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากบริษัทหรือวันที่บริษัทย้ายสถานประกอบกิจการ แล้วแต่กรณี โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ 8.1 ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญา

ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่        วันครบกำหนดจ่ายค่าชดเชยพิเศษหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ว่าเป็นกรณีที่บริษัทต้อง      บอกกล่าวล่วงหน้าหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่

ข้อ 9.  สภาพการบังคับและการประกาศใช้

  1. ระเบียบข้อบังคับนี้ใช้ต่อลูกจ้างทุกคน
  2. บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งที่ซึ่งมีผลบังคับใช้ในบริษัทก่อนหน้าวันที่ประกาศใช้บังคับ และมีข้อความแตกต่างไปจากข้อบังคับนี้ให้ยกเลิกข้อความเฉพาะในส่วนที่ขัดแย้งกับข้อบังคับนี้ และให้ใช้ระเบียบข้อบังคับนี้แทน